ที่มาและความสำคัญของโครงการ
โครงการมหาวิทยาลัยเด็กจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2547 โดย ศาสตราจารย์ ดร. Katharina Kohse-Hinghaus ห้องปฏิบัติการทอยโทแลบ มหาวิทยาลัยบีเลเฟลด์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนต้นได้ร่วมทำกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่หลากหลาย โดยมีผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย และพี่เลี้ยงนักศึกษาระดับปริญญาตรี โท และเอก คอยดูแลให้คำแนะนำในการทำกิจกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การดำเนินงานที่ผ่านมา โครงการประสบผลสำเร็จอย่างมากในการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้รับแรงบันดาลใจ และมีทัศนคติที่ดีในการทำการทดลองที่สนุก เกิดการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการได้รับการพัฒนาทักษะการสังเกต รู้จักตั้งคำถามและค้นหาคำตอบด้วยตนเองเพิ่มขึ้น และต่อมาได้มีการขยายผลไปยังประเทศต่างๆ อาทิ สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ เป็นต้น
เมื่อครั้งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมชมโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ณ Shanghai Institutes for Biological Sciences เมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ในเดือนกรกฏาคม พุทธศักราช 2553 โดยโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ได้รับผลสำเร็จอย่างมากเช่นเดียวกัน โครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย จึงได้ก่อตั้งขึ้นในปีพุทธศักราช 2554 จากแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มหาวิทยาลัยเครือข่าย และองค์กรความร่วมมือแลกเปลี่ยนทางวิชาการแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (DAAD) เพื่อวางรากฐานที่ดีให้นักเรียนไทยได้ฝึกฝนกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ผ่านกิจกรรมลงมือทดลองที่ท้าทายและน่าสนใจ โดยมีผู้เชี่ยวชาญที่เป็นคณาจารย์ นักวิจัย และนิสิต/นักศึกษาทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยเครือข่ายที่เป็นพี่เลี้ยง เพื่อให้คำแนะนำ ตลอดจนเป็นการเตรียมความพร้อมให้นักเรียนเหล่านี้เติบโตไปเป็นนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร หรือบุคลากร ที่มีจิตวิทยาศาสตร์ มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสังคมไทยให้เจริญก้าวหน้าต่อไป
โครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย ได้จัดให้มีพิธีเปิดตัวโครงการฯ เป็นครั้งแรก เมื่อวันอังคารที่ 30 ตุลาคม พุทธศักราช 2555 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโครงการมหาวิทยาลัยเด็กในวันดังกล่าวด้วย ซึ่งคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เข้าร่วมในพิธีเปิด และร่วมจัดกิจกรรมการทดลองทางวิทยาศาสตร์เป็นครั้งแรกในงานเปิดตัวโครงการฯ ครั้งนั้นด้วย และได้ร่วมจัดกิจกรรมต่างๆ และจัดกิจกรรมขึ้นโดยเฉพาะ ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อย่างต่อเนื่องจวบจนปัจจุบัน
“โครงการมหาวิทยาลัยเด็ก Sci@KU” ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นี้ ในฐานะศูนย์มหาวิทยาลัยพี่เลี้ยงหนึ่งของโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย นี้ เป็นโครงการบริการวิชาการเพื่อสังคมและชุมชน ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างคณาจารย์ บุคลากร และนิสิตของทุกภาควิชาในสังกัดคณะวิทยาศาสตร์ โดยเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่จัดขึ้น เพื่อมุ่งส่งเสริมให้นักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลายถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ที่มีอายุระหว่าง 8 ถึง 15 ปี ได้สัมผัสการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย เป็นการสร้างโอกาสให้นักเรียนผู้ได้รับการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (Science & Technology, Engineering, Arts and Mathematics: STEAM) ในการทำกิจกรรมการทดลองทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนมีทัศนคติที่ดีต่อวิทยาการทางวิทยาศาสตร์ สร้างแรงบันดาลใจ และสนุกไปกับการทดลองทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้เด็กเรียนรู้วิทยาศาสตร์รอบๆ ตัว ด้วยความสนุกสนาน โดยไม่รู้สึกว่า วิทยาศาสตร์เป็นของยาก
สำหรับในปี พ.ศ. 2566 นี้ คณะทำงานโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย ศูนย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ปรับรูปแบบการดำเนินโครงการในลักษณะแบ่งเป็นกิจกรรมย่อยตามความถนัดของแต่ละภาควิชาในสังกัดคณะวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้เรียนรู้องค์ความรู้ย่อยต่างๆ ในเชิงลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลาย กิจกรรมละ 100 คน รวมทั้งหมด 4 กิจกรรมย่อยเป็นจำนวนทั้งสิ้น 400 คน
วัตถุประสงค์ของโครงการ
- เพื่อนำร่องการพัฒนาหลักสูตรและกิจกรรมเสริมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ โดยใช้แนวทาง Hands-on (การลงมือทำด้วยตนเอง) ที่ถ่ายทอดจากโครงการ “มหาวิทยาลัยเด็ก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี” มาปรับใช้โรงเรียนนำร่องของไทย
- เพื่อหาแนวทางขยายผลต้นแบบการส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพไปยังโรงเรียนทั่วประเทศ
- เพื่อเพิ่มความตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาด้านการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในสังคมไทย
- เพื่อวางรากฐานระยะยาวในการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาสร้างนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรรุ่นใหม่ให้ประเทศไทยมีบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น ทั้งด้านคุณภาพและปริมาณ
- เพื่อพัฒนาระบบการเรียนการสอน ให้นักเรียนช่างสังเกต รู้จักคิด รู้จักตั้งคำถาม และค้นหาคำตอบด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในวัยเรียนที่สามารถเรียนรู้ได้สูงสุด
- เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้รู้จักกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และภาควิชาที่ผู้เข้าร่วมโครงการสนใจเข้าร่วมกิจกรรม ในฐานะองค์กรทางการศึกษาและการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ชั้นนำแห่งหนึ่งของประเทศไทย
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
ผู้เข้าร่วมโครงการได้รับการส่งเสริมความรู้ผ่านกระบวนการการลงมือปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ โดยใช้การทดลองกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ในโครงการเป็นเครื่องมือที่เหมาะสม เพื่อจุดประกายให้เกิดความสนใจและสามารถเรียนรู้วิทยาศาสตร์รอบๆ ตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กลุ่มเป้าหมาย
กลุ่มเป้าหมายโดยทั่วไปคือ นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลาย ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น อายุ 8–12 ปี ซึ่งอยู่ในวัยที่เริ่มเรียนรู้วิทยาศาสตร์พื้นฐานในชีวิตประจำวัน และวิทยาศาสตร์เฉพาะแต่ละแขนงวิชา ในแต่ละกิจกรรมจะมีกลุ่มเป้าหมายต่างกันไป ตามระดับความยากง่ายของเนื้อหาที่เป็นพื้นฐาน และระดับความปลอดภัยที่ผู้เข้าร่วมโครงการต้องใช้ความระมัดระวังตามความเหมาะสม
โดยสำหรับในปี พ.ศ. 2566 นี้ กิจกรรมที่จัดขึ้นมีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียนที่กำลังศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลาย (ป. 4 – ป. 6) กิจกรรมละ 100 คน รวม 4 กิจกรรมย่อย รวมผู้เข้าร่วมโครงการจำนวนรวมทั้งสิ้น 400 คน
กำหนดการโครงการ
ในวันอาทิตย์ที่ 17 ธันวาคม 2566 เวลา 08.30 – 16.15 น. จัดกิจกรรม ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน
08.30 – 09.00 | ลงทะเบียนรอบเช้า ณ ห้องประชุมสุมินทร์ สมุทคุปติ์ |
09.00 – 09.15 | พิธีเปิดโดยคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ณ ห้องประชุมสุมินทร์ สมุทคุปติ์ |
09.15 – 09.30 | ชี้แจงกิจกรรมและแบ่งกลุ่ม |
09.30 – 12.00 | กิจกรรมรอบเช้า (เส้นทางที่ 1 และเส้นทางที่ 2) |
10.10 – 10.40 กิจกรรมที่ 2 10.40 – 11.00 พักรับประทานอาหารว่าง 11.00 – 11.30 กิจกรรมที่ 3 11.40 – 12.10 กิจกรรมที่ 4 |
|
12.00 – 13.00 | พักรับประทานอาหารกลางวัน |
12.45 – 13.15 | ลงทะเบียนรอบบ่าย ณ ห้องประชุมสุมินทร์ สมุทคุปติ์ |
13.15 – 13.30 | ชี้แจงกิจกรรมและแบ่งกลุ่ม |
13.30 – 16.00 | กิจกรรมรอบบ่าย (เส้นทางที่ 3 และเส้นทางที่ 4) |
13.30 – 14.00 กิจกรรมที่ 1 14.10 – 14.40 กิจกรรมที่ 2 14.40 – 15.00 พักรับประทานอาหารว่าง 15.00 – 15.30 กิจกรรมที่ 3 15.40 – 16.10 กิจกรรมที่ 4 |
รายละเอียดแต่ละเส้นทาง (กิจกรรม)
การแต่งกาย
ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสวมใส่ชุดสุภาพ (บางกิจกรรมมีข้อกำหนดให้สวมกางเกงขายาว และงดเว้นการใส่รองเท้าแตะในการเข้าร่วมโครงการ โปรดอ่านรายละเอียดกิจกรรมต่างๆ อีกครั้งหนึ่ง)