กิจกรรมที่ 7“สู้ PM 2.5 และ สแกนหาสมบัติใต้พื้นพิภพ”
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
ข้อมูลทั่วไปของกิจกรรม
ชื่อกิจกรรม | สู้ PM 2.5 และ สแกนหาสมบัติใต้พื้นพิภพ |
วัน – เวลาที่จัดกิจกรรม | ขอเลื่อนการจัดกิจกรรมอย่างไม่มีกำหนด |
สถานที่ลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรม | โถงอเนกประสงค์ ชั้น 1 อาคารทวี ญาณสุคนธ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (บางเขน) |
การแต่งกาย | ชุดสุภาพ กางเกงขายาว |
หน่วยงานผู้จัดกิจกรรม | ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ |
หน่วยงานผู้รับผิดชอบ | คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในนามของ โครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย ศูนย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ |
จำนวนที่นั่งที่รับได้ | 50 ที่นั่ง ตรวจสอบรายชื่อผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ ที่นี่ |
เงื่อนไขผู้สมัคร | นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.1 – ม.3) |
วิธีการสมัคร | ผ่านเว็บไซต์เท่านั้น เริ่มรับสมัคร วันพฤหัสบดีที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป คลิกที่นี่ |
ค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมกิจกรรม | ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ |
หลักการและความสำคัญ
กิจกรรมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลัก คือ ให้เด็กเข้าใจและเรียนรู้หลักการวิทยาศาสตร์ โดยผ่านการเรียนรู้ด้านมลพิษ PM 2.5 พร้อมสอดแทรกความรู้วิทยาศาสตร์ให้กับนักเรียนผ่าน board game และการทดลองปฏิบัติค้นหาสิ่งของ (ใต้ดิน) โดยการสำรวจทางธรณีฟิสิกส์ ซึ่งใช้หลักการความแตกต่างด้านกายภาพ (คุณสมบัติความเป็นโลหะและการนำไฟฟ้า) โดยภายในกิจกรรมจะแบ่งนักเรียน 50 คน ออกเป็น 2 กลุ่มๆ ละ 25 คน และให้นักเรียนแต่ละกลุ่มเวียนกันทำกิจกรรมในแต่ละฐาน โดยมีระยะเวลาดำเนินการแต่ละฐานของภาควิชา รวมทั้งหมด 3 ชั่วโมง โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
รูปแบบกิจกรรม
1. กิจกรรม สู้ PM2.5
ความรู้ที่เกี่ยวข้อง
ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีค่าเกินมาตรฐานในกรุงเทพมหานคร และอีกหลายจังหวัดของประเทศไทย หรือเรียกว่า PM 2.5 (ย่อมาจาก particulate Matter 2.5 micron) คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ย ไม่เกิน 2.5 ไมครอน (เล็กกว่าเส้นผม 20 เท่า) แขวนลอยอยู่ในอากาศ รวมกับไอน้ำ ควัน และก๊าซต่างๆ ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่เมื่อมาอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก จึงมองเห็นคล้ายหมอกควัน (มักเห็นในช่วงเช้า) สามารถเล็ดลอดสู่ร่างกายโดยการหายใจ ผ่านขนจมูก สู่ปอดและหลอดเลือดได้ง่าย สาเหตุที่ทำให้เกิด PM 2.5 เช่น ควันจากยานพาหนะ การเผาไม้ วัชพืชหรือขยะ ฝุ่นจากการก่อสร้าง ควันจากโรงงานอุตสาหกรรม โรงผลิตไฟฟ้า เป็นต้น
PM 2.5 เมื่อสู่ร่างกายจะทำให้เกิดความเป็นพิษต่อร่างกาย เช่น ระบบทางเดินหายใจอักเสบ ภูมิแพ้ โรคหอบหืด ถุงลมโป่งพอง คนที่มีโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดเรื้อรังเกิดอาการกำเริบ ส่วนในระยะยาวทำให้ปอดมีประสิทธิภาพลดลง ซึ่งการปฏิบัติตนที่ถูกต้องและการมีความรับผิดชอบต่อสังคมจึงเป็นสิ่งที่สำคัญในการลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก และมลพิษทางอากาศชนิดอื่นๆ
สิ่งที่นักเรียนได้ศึกษาในกิจกรรมนี้ คือ การเรียนรู้ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ต้นกำเนิดและผลกระทบ PM 2.5 มลพิษทางอากาศรอบตัวเรา รวมถึงแนวทางการป้องกันจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก ผ่านการเล่น board game และให้ความรู้เพิ่มเติม ซึ่งนักเรียนจะได้ใช้ทักษะในการสังเกต และการจำแนก รวมถึงมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับฝุ่นละอองขนาดเล็กมากขึ้น
จุดประสงค์
1. เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจ สาเหตุของการเกิดฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) พร้อมแนวทางการป้องกันตนเองจากมลพิษ
2. เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาทักษะการสังเกต การจำแนก การประมวลความรู้ และการใช้เหตุผล ทางวิทยาศาสตร์
3. เพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะที่ดีในการทำงานร่วมกับผู้อื่น
เวลาที่ใช้ ประมาณ 1 ชั่วโมง 20 นาที
2. กิจกรรม สแกนหาสมบัติใต้พื้นพิภพ
ความรู้ที่เกี่ยวข้อง
เป็นที่รู้กันว่าสารจำพวกโลหะมีคุณสมบัติการเหนี่ยวนำของแม่เหล็ก นักวิทยาศาสตร์จึงนำหลักการพื้นฐานในการสำรวจคุณสมบัติทางแม่เหล็ก (magnetic survey) โดยใช้เครื่องมือ magnetometer วัดค่าสนามแม่เหล็กของโลก ซึ่งบริเวณที่มีวัตถุที่มีการเหนี่ยวนำความเป็นแม่เหล็ก จะทำให้ค่าสนามแม่เหล็กโลกมีความคลาดเคลื่อนจากปัจจัยแวดล้อม โดยหลักการนี้สามารถใช้สำรวจแร่จำพวกโลหะ เช่น เงิน ทองแดง สิ่งที่นักเรียนได้ศึกษาในกิจกรรมนี้ คือ หลักการทำงานของเครื่อง magnetometer โดยจะเรียนรู้ ผ่านการจำลองการสำรวจวัตถุโลหะใต้ดิน โดยจะสอดแทรกหลักการสำรวจค้นหาโลหะ ประยุกต์สู่การสำรวจใต้ดินเพื่อการพัฒนาแหล่งน้ำ รวมถึงการสำรวจน้ำใต้ดิน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง
จุดประสงค์
1. เพื่อให้นักเรียนได้เข้าใจหลักการสำรวจทางแม่เหล็กเบื้องต้น และหลักการใช้เครื่องมือสำรวจ
2. เพื่อส่งเสริมการทำงานร่วมกับผู้อื่น การรู้จักสังเกต การประมวลผล และการใช้เหตุผลทาง วิทยาศาสตร์ผ่านกิจกรรม
3. เพื่อให้เกิดความสนุกสนาน และความกระตือรือร้นในการเรียนวิทยาศาสตร์
เวลาที่ใช้ ประมาณ 1 ชั่วโมง 20 นาที
ข้อควรระวัง
1. ขณะทำการทดลองต้องอยู่ให้ห่างจากสิ่งของที่เหนี่ยวนำ เช่น สิ่งของที่ทำมาจากโลหะ
2. ขณะทำกิจกรรมควรถอดสิ่งที่ทำมาจากโลหะออกจากร่างกาย เนื่องจากมีผลต่อค่าที่วัดได้
ข้อควรคำนึง
1. นักเรียนรู้จักหลักการพื้นฐานของธรณีฟิสิกส์ เพื่อการสำรวจใต้ดิน
2. นักเรียนมีทักษะในด้านการสังเกต การคิด วิเคราะห์ และการทดลองหรือไม่
3. นักเรียนสามารถนำหลักการไปประยุกต์ใช้กับในชีวิตประจำวันได้
4. นักเรียนสามารถเข้าใจหลักการของธรณีฟิสิกส์ ประยุกต์ใช้ในการสำรวจเพื่อการพัฒนาแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง
5. นักเรียนมีความสามารถในการประมวลผลจากข้อสังเกตและการทดลองหรือไม่
กำหนดการ
วันเสาร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 09:00 น. – 12:00 น.
08:30 น. ‒ 08.50 น. | ลงทะเบียน ณ ชั้น 1 อาคารทวี ญาณสุคนธ์ คระวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ |
09.00 น. ‒ 09.30 น. | ชี้แจงรายละเอียดโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก |
09:30 น. ‒ 10:20 น. | แบ่งนักเรียนเป็น 2 กลุ่มๆ ละ 25 คน เข้ากิจกรรมฐาน กิจกรรมที่ 1 สู้ PM 2.5 ณ ห้อง 412 ชั้น 4 อาคารสุขประชา วาจานนท์ กิจกรรมที่ 2 สแกนหาสมบัติใต้พื้นพิภพ ณ ลาน @ SCIENCE KU |
10:20 น. ‒ 10:40 น. | รับประทานอาหารว่าง |
10:40 น. ‒ 12:00 น. | สลับกลุ่มนักเรียน เพื่อเข้ากิจกรรมเวียนฐาน กิจกรรมที่ 1 สู้ PM 2.5 ณ ห้อง 412 ชั้น 4 อาคารสุขประชา วาจานนท์ กิจกรรมที่ 2 สแกนหาสมบัติใต้พื้นพิภพ ณ ลาน @ SCIENCE KU |
12:00 น. | ส่งนักเรียนกลับส่วนกลาง (อาคารทวี ญาณสุคนธ์) |
หมายเหตุ: กำหนดการอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม